หินลาวามีประโยชน์ ต่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อม

Credit : SC Department of Agriculture

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ในประเทศอังกฤษ ร่วมกับนักวิจัยนานาชาติได้นำเสนอผลงานวิจัยที่แนะนำแนวคิดใหม่ๆด้านการเกษตรที่อาจช่วยปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น จากแนวคิดที่ว่ามนุษย์รู้มานานแล้วว่าที่ราบลุ่มใกล้ภูเขาไฟนั้นอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการเพาะปลูกพืช และผลผลิตที่ได้มาก็ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพมนุษย์

กลุ่มวิจัยดังกล่าวเผยว่า การเพิ่มหินซิลิเกตบดละเอียด เช่น หินบะซอลต์ หรือหินลาวาที่เหลือจากการปะทุของภูเขาไฟโบราณ ก้อนหินเล็กๆ เหล่านี้เมื่อผสมรวมลงในดินจะช่วยเร่งปฏิกิริยาเคมีอย่างรวดเร็วในแปลงเกษตร โดยดูดจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และปล่อยสารอาหารที่จำเป็นต่อพืช รวมทั้งเพิ่มการป้องกันจากศัตรูพืชและโรคต่างๆ ช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน นักวิจัยมองว่าการวิจัยครั้งนี้ได้เปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการจัดการดินแดนพื้นที่ ซึ่งเชื่อมโยงกับสภาพภูมิอากาศ อาหารและความยั่งยืนของดิน

ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการพัฒนากลยุทธ์การกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ลดลง และให้ได้ผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นทางด้านอาหารและผืนดินเพาะปลูก เนื่องจากนักวิจัยเชื่อว่าการเพาะปลูกพืชที่มีหินซิลิเกตบด จะสามารถปรับปรุงความมั่นคงด้านอาหารทั่วโลกและลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลอยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้.