รู้รอบโลก ตอน “ตัวสะกด” ที่มาของการอ่านออกเขียนได้

การสะกดคำ ทั้งพยัญชนะ สระ และตัวสะกดให้ถูกต้องสมบูรณ์เป็นส่วนสำคัญในการเรียนหนังสือของเราทุกคน เพราะทำให้เราสามารถออกเสียง ผสมเสียงพยัญชนะเข้ากับเสียงสระได้อย่างถูกต้อง ในภาษาไทยเรามีมาตราตัวสะกดแบ่งเสียงตัวสะกดออกเป็นแม่ต่างๆ ได้แปดเสียง ความแตกต่างนี้เกิดจากการที่เรามีพยัญชนะถึง 44 ตัว แต่ด้วยบางตัวถูกกำหนดให้ออกเสียงซ้ำกัน เลยเหลือจำนวนเสียงในพยัญชนะเพียง 21 เสียง และแปดเสียงที่เป็นตัวสะกดก็คือแปดเสียงที่สามารถลงท้ายคำต่อจากสระได้นั่นเอง

 

ส่วนในภาษาอังกฤษมีตัวอักษรทั้งหมด 26 ตัว รวมถึงสระ a e i o u และอักษรควบกล้ำต่างๆ โดยทุกตัวสามารถทำหน้าที่เป็นตัวสะกดได้ทั้งหมด รวมทั้งทำหน้าที่เป็นพยัญชนะต้นไปพร้อมกัน ตัวอย่างเช่น คำว่า anticipate (ant/ti/ci/pate) ที่แปลว่าตั้งตารอคอย อักษร t ทำหน้าที่เป็นตัวสะกดสำหรับพยางค์แรก และยังเป็นอักษรต้นให้กับสระ i (อิ) ในพยางค์ที่สอง ซึ่งสระตัวนี้ก็เป็นทั้งสระและตัวสะกดในคราวเดียวกัน อย่างนี้ถ้าเราเห็นเสียงอะไรอยู่ในคำภาษาอังกฤษก็แปลว่าออกเสียงได้ทั้งหมดทุกตัวอักษรหรือเปล่า แล้วทำไมบางครั้งเราออกเสียงสะกดภาษาอังกฤษได้ยากลำบากจัง

 

เนื่องจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่มีประวัติการใช้งานมายาวนาน ผ่านการเปลี่ยนแปลงและเกี่ยวข้องกับภาษาอื่นๆ มากมาย ทำให้เกิดตัวอักษรอีกประเภทที่ทำให้พวกเราอึ้งไปตามๆ กัน คือตัวอักษรที่ไม่ออกเสียงทั้งที่โชว์อยู่โทนโท่ เช่นคำว่า hour (ชั่วโมง) ที่ออกเสียงคล้าย our (พวกเรา) เสียงที่หายไปก็คือเสียง h ซึ่งมักจะเป็นพยัญชนะที่ไม่ออกเสียงในคำบางคำด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป บางครั้งเสียง h ก็หายไปจากการรวบเสียง เช่น shepherd อ่านว่า เชพเพิรด์ ไม่ใช่ เชพเฮิรด์ บางครั้งเป็นเพราะต้องการรักษาคำเดิมที่ยืมมาจากภาษาอื่น ซึ่งมีการสะกดและออกเสียงไว้แบบนั้น เช่น messiah (เมส-ไซ-อา) จากภาษาฮิบรู rhapsody (ราพ-โซ-ดี้) จากภาษากรีกที่แปลว่าบทกลอนที่แสดงอารมณ์ลึกซึ้ง ส่วนที่ไม่ออกเสียง h ในคำว่า hour มาจากการยืมคำภาษาฝรั่งเศสซึ่งไม่ออกเสียง h เป็นปรกติ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคำที่มีสัญชาติฝรั่งเศสจะเข้ากฎเดียวกัน ถ้าคำไหนออกเสียง h แล้วอ่านง่ายกว่า คนอังกฤษก็จัดการเติมเสียง h กลับเข้าไป เช่น hospital (โรงพยาบาล) host (เจ้าภาพ) human (มนุษย์)

 

ไม่ว่าจะเรียนภาษาใด การสะกดคำศัพท์เป็นกิจกรรมสำคัญทั้งเจ้าของภาษาและนักเรียนต่างชาติค่ะ ทุกคนคงเคยผ่านการทดสอบ Dictation กันมาแล้วใช่ไหม ถ้าเราสามารถฝึกฝนทักษะการฟังเสียงที่ได้ยินแล้วแปลงออกมาเป็นตัวสะกดได้ถูกต้อง ก็จะทำให้เราชำนาญในการอ่านและเขียนอย่างคล่องแคล่ว รวมถึงสามารถออกเสียงคำศัพท์ได้อย่างถูกต้อง เป๊ะ! ไม่แพ้เจ้าของภาษาเลย อุปสรรคที่ปิดกั้นการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ อันเกิดจากการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ฟังไม่เข้าใจ ก็จะหมดไป

 

เพื่อเป็นการรณรงค์เพิ่ม “อัตราการรู้หนังสือ” หรือความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ให้กับเด็กทั่วโลก UNICEF จึงกำหนดให้วันที่ 5 มีนาคมเป็นวันแห่งการรู้หนังสือ (World Literacy Day) และได้จัดทำเว็บไซต์ให้เราเข้าไปร่วมเล่นเกมฝึกฝนการสะกดคำภาษาอังกฤษกับเพื่อนๆ ทั่วโลกได้ที่ http://www.worldeducationgames.com ไปช่วยกันสร้างสถิติของเด็กไทยกันนะ