นำเรื่อง
กาพย์พระไชยสุริยา เป็นหนังสือหัดอ่านและเขียนคำมาตราตัวสะกดสำหรับเด็กแต่งโดยสุนทรภู่ ใช้การนำนิทานมาผูกเป็นเนื้อเรื่องแต่งด้วยคำประพันธ์ ๓ ชนิด คือ กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ ทั้งนี้กาพย์พระไชยสุริยาอยู่ในหนังสือมูลบทบรรพกิจซึ่งเป็นแบบเรียนในสมัยรัชกาลที่ ๕
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) จัดทำแบบเรียนภาษาไทยสำหรับใช้ในโรงเรียนหลวงจำนวน ๖ เล่ม ได้แก่ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ และพิศาลการันต์ สันนิษฐานว่ามูลบทบรรพกิจนั้นได้เค้ามาจากหนังสือจินดามณีในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยแทรกเรื่องกาพย์พระไชยสุริยาของสุนทรภู่ลงไปด้วย
เรื่องย่อ
พระไชยสุริยา กษัตริย์แห่งเมืองสาวัตถี และพระมเหสีชื่อ พระนางสุมาลี ปกครองบ้านเมืองด้วยความผาสุก ต่อมาเสนาข้าราชการ ประชาชน ตลอดจนพระภิกษุสงฆ์เริ่มประพฤติทราม ทำให้บ้านเมืองเสื่อมโทรม เกิดอาเพศประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก พระไชยสุริยาจึงพาพระมเหสีลงเรือสำเภาหนีภัย แต่กลับพบกับพายุใหญ่พัดเรือจนแตก พระไชยสุริยาและพระมเหสีรอดขึ้นฝั่งได้ แต่ก็ต้องตกระกำลำบากอยู่ในป่า จนกระทั่งพบกับพระฤๅษีผู้ชี้ให้เห็น “กาลกิณี ๔ ประการ” ที่เป็นสาเหตุความพินาศของบ้านเมืองและโปรดเทศนาสั่งสอนให้ทั้งสองตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรม สองกษัตริย์จึงเกิดความเลื่อมใสจึงออกบวชและบำเพ็ญธรรมจนดับขันธ์ ได้ไปเสวยสุขอยู่ในสวรรค์
ศัพท์น่ารู้
กระจับปี่ พิณ ๔ สาย
กังสดาล ระฆังวงเดือน
กินเพลิง นอนผึ่งแดด
กูณฑ์ ไฟ
ไก่หมู ในที่นี้หมายถึง ของที่นำไปให้ผู้พิพากษาเพื่อเป็นการติดสินบน
ขอมรคา ขอถามทาง
เขนย หมอน
คางแข็ง แข็งแกร่ง บึกบึน
ครั่ง ชื่อเพลี้ยหอยชนิดหนึ่ง ตัวเมียไม่มีปีก ตัวอ่อนมีขาและหนวด เมื่อลอกคราบจะไม่มีขา
ดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช ผลิตสารที่เรียกว่า ขี้ครั่ง ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม
ช่อใบ ชักใบเรือขึ้น
ชาวแม่ ผู้หญิงในวังซึ่งเป็นผู้ที่มีอายุ
ถือน้ำ ทำพิธีสาบานก่อนเข้ารับราชการ
ท่อเสียง ประสานเสียงกัน
ทุกขตรัง มีทุกข์มากยิ่งขึ้น
ไพชยนต์สถาน ชื่อรถและวิมานของพระอินทร์ ปราสาททั่วไปของหลวง
เภตรา เรือสำเภา
ม้าล่อ แผ่นโลหะใช้ตีให้มีเสียงดัง
เมธา นักปราชญ์
ว่า ปกครองดูแล ใช้ในความว่า “มิได้ว่าหมู่ข้าไท”
สังวัจฉระ ในที่นี้หมายถึง เวลา
สัตถาวร ยั่งยืน
สำภาที สัมพาที เป็นพญานกตนหนึ่งในเรื่อง เป็นลูกของพญาครุฑและเป็นน้องของนกสดายุ
สุภา ตุลาการ
เสาใบทะลุ ใบเรือฉีกขาด
เหรา (เห-รา) สัตว์น้ำในนิยาย มีลักษณะเป็นครึ่งมักรครึ่งนาค
อุระพสุธา พื้นดิน
ประวัติผู้แต่ง
ประวัติของสุนทรภู่หรือสุนทรโวหารได้กล่าวถึงแล้วในหน่วยการเรียนรู้ที่ ๒ นิทานคำกลอนเรื่อง พระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ
สาระน่ารู้
กาพย์
กาพย์ คือบทร้อยกรองที่บังคับจำนวนคำในวรรค บังคับสัมผัส แต่ไม่บังคับเสียงวรรณยุกต์ คำเอก-คำโท หรือคำครุลหุ ที่นิยมแต่งมีอยู่ ๓ ชนิด ได้แก่
แนวทางในการพิจารณาวรรณกรรม
เนื้อเรื่อง
กาพย์พระไชยสุริยา เป็นแบบการอ่านเขียนภาษาไทยที่นำนิทานมาร้อยเป็นบทเรียน แบ่งออกเป็นตอน ตามมาตราตัวสะกด โดยเริ่มที่แม่ ก กา ไล่ไปจนจบด้วยแม่เกย เมื่อใดขึ้นมาตราตัวสะกดใหม่ก็จะบอกชัดเจน แต่มีมาตรเก่ามาปะปนในบทถัดไปเพื่อเป็นการทบทวน ทั้งนี้แม่เกอวและแม่เกยไม่ได้แยกออกจากกันชัดเจน เพราะโบราณถือรวมไว้ด้วยกัน ในส่วนท้ายมีข้อคิดแก่เด็กในเรื่องการตั้งใจและเอาใจใส่ในการเรียน
ศิลปะการประพันธ์
๑. ใช้ศัพท์ง่าย เหมาะสมกับวัยของเด็ก ส่วนศัพท์ยากที่ปะปนอยู่ก็สามารถเข้าใจจากบริบท เช่น
“มีไม้ไทรใหญ่ใบหนา เข้าไปไสยา
เวลาพอค่ำรำไร”
๒. มีลีลาในการเล่าเรื่องที่ต่อเนื่องกัน ทำให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการ เช่น
“สมอก็เกาเสาใบ ทะลุปรุไป
น้ำไหลเข้าลำสำเภา”
๓. มีการสรรคำและใช้โวหาร ทำให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพที่ชัดเจน
- การสรรคำพรรณนาบรรยากาศและธรรมชาติยามค่ำคืน เช่น
“วันนั้นจันทร มีดารากร เป็นบริวาร
เห็นสิ้นดินฟ้า ในป่าท่าธาร มาลีคลี่บาน ใบก้านอรชร”
- การใช้ภาพพจน์เปรียบเทียบ (อุปมาโวหาร) เช่น
“ยูงทองร้องกะโต้งโห่งดัง เพียงฆ้องกลองระฆัง
แตรสังข์กังสดาลขานเสียง”
- การใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ (สัทพจน์โวหาร) เช่น
“ค้อนทองเสียงร้องป๋องเป๋ง เพลินฟังวังเวง
อีเก้งเริงร้องลองเชิง”
- การใช้คำที่สื่อให้เห็นกิริยาอาการที่ต่อเนื่อง เช่น
“เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน เหมือนอย่างนางเชิญ
พระแสงสำอางข้างเคียง”
๔. การเล่นสัมผัสใน ทั้งสัมผัสสระและสัมผัสพยัญชนะ เช่น
“ไกรกร่างยางยูงสูงระหง ตะลิงปลิงปริงประยงค์
คันทรงส่งกลิ่นฝิ่นฝาง”
ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ
๑. หากประชาชนตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม บ้านเมืองก็จะเกิดความสงบสุข
๒. ภิกษุเป็นพุทธทายาทควรประพฤติตัวให้เหมาะสมเพื่อให้ศาสนิกชนเลื่อมใส
๓. ไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้ในโลกนี้เพราะกษัตริย์อำนาจสูงอาจพบความลำบากได้เพราะข้าราชการไม่ดี
๔. ผลบุญของการตั้งมั่นในความเมตตากรุณาย่อมส่งผลให้ผู้นั้นได้รับความสุขตลอดกาล
การนำไปใช้ในชีวิตจริง
สังคมที่สงบสุขเกิดจากพลเมืองทุกหน่วยในสังคมกระทำตามหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเป็นอย่างดี
สรุป
กาพย์พระไชยสุริยา แต่งขึ้นเพื่อเป็นแบบฝึกอ่านเขียนคำในภาษาไทย โดยผูกเรื่องเป็นนิทานที่ให้ความเพลิดเพลินและยังสอดแทรกข้อคิด คติสอนใจเอาไว้อีกด้วย